วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Learning log ในห้องเรียน (Sep 15th, 2015)

 Learning log ในห้องเรียน
(Sep 15th, 2015)
การสอนแบบครูที่ดี
            ครูที่สังคมคาดหวัง คือ แบบอย่างที่ดีของศิษย์เป็นผู้สร้างสมาชิกใหม่ของสังคมให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อสังคม ธรรมชาติของอาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องสัมผัสกับบุคคลอื่นอยู่เสมอ ฉะนั้นผู้ดำเนินอาชีพครูจึงต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และใฝ่พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง แนวคิดหรือทัศนะเกี่ยวกับครูที่ดีว่าจะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะอย่างไรนั้น มีหลากหลายทัศนะทั้งจากแนวคิดทางวัฒนธรรมความเชื่อแบบไทย ทัศนะความคิดจากวงการการศึกษาตะวันตก ตลอดจนผลการศึกษาค้นคว้าและวิจัยต่างๆ
                ครูที่สอนดีควรมีลักษณะสำคัญ คือ สอนอย่างน่าสนใจและน่าติดตาม คือ การที่ครูสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนได้อย่างน่าสนใจ รู้จักกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจอยากเรียนรู้ อยากศึกษาค้นคว้า มีวิธีการเข้าหาผู้เรียนอย่างน่าสนใจ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกไม่เคอะเขินที่จะแสดงความคิดเห็น เช่น ก่อนสอน ครูทักทายผู้เรียนด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แสดงท่าทางแห่งความเป็นมิตร อย่างจริงใจ และเป็นธรรมชาติ ป้อนคำถามที่น่าสนใจ ชักชวนให้ผู้เรียนทุกคนแสดงความคิดเห็น โดยครูบางคนอาจเริ่มต้นสอนด้วยการเล่าประสบการณ์ที่ได้ประสบมา
                สอนสนุกแต่มีสาระ คือ การสอนที่ได้เนื้อหาสาระพร้อม ๆ ไปกับผู้เรียนมีความสนุกสนาน ทั้งนี้เพราะผู้เรียนอยู่ในช่วงวัยที่รักสนุก ชอบการเล่น ตื่นตาตื่นใจกับเรื่องใหม่ ๆ หากครูมีวิธีการสอนที่สามารถสอดแทรกความสนุกสนานไปด้วย ย่อมสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อหน่าย เช่น ครูผู้สอนมีการเล่าเรื่องตลก หรือเรื่องราวที่ตื่นเต้นสอดแทรกในการเรียนการสอน เล่นเกมหรือทำกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ หรือใช้สื่อการสอนใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มสีสันในการเรียนรู้ เป็นต้น
                เตรียมตัวสอนมาอย่างดี คือ การที่ครูผู้สอนได้วางแผนการสอนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ เตรียมเอกสาร สื่อประกอบการสอน เตรียมวิธีดำเนินการสอนในแต่ละคาบเรียน รวมถึงการคิดหาทางป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการเรียนการสอน เช่น ผู้เรียนไม่เข้าใจ ผู้เรียนไม่สนใจ ผู้เรียนหลับ เป็นต้น ที่สำคัญ ครูควรรู้จักผู้เรียนแต่ละคน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการสอนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับผู้เรียนแต่ละคนอย่างแท้จริง
                ให้ทุกคนในชั้นมีส่วนร่วม คือ การที่ครูไม่เพียงสอน ให้ผู้เรียนนั่งฟังและจดตาม แต่ให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ซึ่งมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า หากผู้เรียนมีส่วนร่วมในการพูดหรือร่วมทำกิจกรรมในชั้นเรียน จะทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนมีประสิทธิและมีความคงทนของการเรียนรู้มากกว่าการอ่าน การได้ยิน และการมองเห็นเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ในระหว่างการเรียนการสอน ครูผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนระดมความคิดกับเพื่อนในประเด็นที่ครูตั้งคำถาม ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทำกิจกรรม เช่น เล่นเกมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในวิชานั้น ๆ การให้ผู้เรียนออกมาพูดหน้าชั้นเรียนในประเด็นต่าง ๆ ตลอดจนการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น
                ยุติธรรมไม่ลำเอียง คือ การปฏิบัติต่อผู้เรียนทุกคนในลักษณะเดียวกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หากครูมีความลำเอียงต่อผู้เรียนบางคน เช่น รักหรือสนิทสนมกับผู้เรียนบางคน อาจนำมาซึ่งการปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคกัน ทำให้ผู้เรียนที่ไม่เป็นที่โปรดปรานของครูรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า เกิดการเปรียบเทียบ ท้ายที่สุดผู้เรียนจะไม่ชอบครูผู้สอน ส่งผลร้ายต่อการเรียนในที่สุด โดยลักษณะครูที่ยุติธรรม เช่น ให้ความสนิทสนมกับผู้เรียนทุกคน ผู้เรียนที่ทำดีควรได้รับคำชมเชย ผู้เรียนที่ทำผิดกฎควรได้รับการลงโทษ ครูต้องให้ความสำคัญกับผู้เรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ ครูควรมีความยุติธรรมในการตรวจคะแนนไม่โน้มเอียงไปทางผู้เรียนบางคน และช่วยเหลือผู้เรียนที่เรียนไม่ถึงมาตรฐาน
                เข้มงวดแต่ใจกรุณา คือ การที่ครูผู้สอนมีความสมดุลระหว่างการเข้มงวด และความประนีประนอม เช่น ไม่ควรเข้มงวดกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากเกินไป ไม่ใช้อารมณ์ในการสอน การสั่งงาน หรือการลงโทษ แต่พยายามประนีประนอม ให้ความรัก ความเข้าใจกับผู้เรียนแต่ละคน มีความเป็นมิตรกับผู้เรียน รวมถึงให้กำลังใจผู้เรียนอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน หากครูผู้สอนทำให้ผู้เรียนเกิดความกลัว เช่น ทำให้ผู้เรียนกลัวการตอบคำถาม กลัวการทำโทษ กลัวสอบตก เป็นต้น ผู้เรียนจะเกิดความเครียด จนส่งผลเสียต่อการเรียนในที่สุด
                ใช้คำพูดเหมาะสมกับผู้เรียน คือ การที่ครูเลือกใช้คำที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน เพราะผู้เรียนแต่ละคน แต่ละระดับชั้น แต่ละเพศ มีความแตกต่างกัน ครูสามารถเลือกใช้คำที่เหมาะกับผู้เรียนที่แสดงถึงการให้เกียรติผู้เรียนแต่ละคน เช่น ผู้เรียนที่เป็นผู้หญิงครูอาจต้องใช้คำพูดที่ระมัดระวังมากขึ้น ทั้งนี้เพราะเด็กหญิงมีความอ่อนไหวกว่าเด็กชาย ระวังการใช้คำพูดกับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม เป็นต้น
                ช่วยทบทวนบทเรียนให้ผู้เรียน คือ การที่ครูได้ช่วยผู้เรียนรื้อฟื้น ทำความเข้าใจในวิชานั้น ๆ เพราะผู้เรียนต้องเรียนในหลายวิชา อาจเกิดความสับสน หากมีการทบทวนก่อนการสอนและก่อนการสอบ จะเป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจเรื่องที่เรียนผ่านมาอีกครั้ง การให้เทคนิคการจำต่างๆ และช่วยลดความเครียดให้กับผู้เรียน วิธีทบทวนบทเรียนให้ผู้เรียน เช่นตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบหรือแสดงความคิดเห็น ให้ผู้เรียนทำรายงานสรุปสิ่งที่เรียนรู้มา เป็นต้น
                การสอนภาษาอังกฤษมีปัญหาที่พบเจอบ่อยอีกอย่างคือการจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ได้ ซึ่งนั่นก็เป็นธรรมชาติของทุกภาษา หากเราไม่ได้ใช้และทบทวนมันบ่อยๆ มักจะมีการหลงลืมแน่นอน เทคนิคและวิธีการท่องจำคำศัพท์มีหลากหลายวิธี ควรเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเรา ยกตัวอย่างการจำคำศัพท์แบบครูลูกกอล์ฟ คือ จำศัพท์ภาษาอังกฤษเหมือนตอนที่เราเรียนภาษาไทย นั่นก็คือ เริ่มจากการอ่านออกเสียงให้ถูกต้องก่อน (ย้ำว่าอ่านให้ถูกต้อง คือเราจะไม่มานั่งมั่วถ้าไม่มั่นใจ) จากนั้นลูกกอล์ฟจะนำคำศัพท์ตัวนั้นๆ มาสร้างประโยคง่ายๆ ให้สอดคล้องและให้ใกล้ตัวเรามากที่สุด (คำไหนที่ไม่ค่อยอิน เราก็จะใช้เวลานานหน่อย แต่คำไหนที่ยกตัวอย่างได้ใกล้ตัวมาก เราจะจำได้เลย) ข้อดีของวิธีนี้คือ เราจะมีคลังประโยค ไม่ใช่แค่คลังคำศัพท์ ที่กองเป็นขยะแต่ใช้ไม่ได้
                ยกตัวอย่างของภาษาไทยก่อน เมื่อเราเจอคำว่า ตลาด เราก็ไม่ควรมาอ่านมั่วๆ ว่า ตะ-ลาด ควรอ่านให้ถูกว่า ตะ-หลาด จากนั้นก็ยกตัวอย่างเช่น มีตลาดใกล้บ้านฉัน” “ฉันไปตลาดทุกวันจันทร์” “แม่ฉันซื้อของที่ตลาดแห่งนี้เสมอหรือ พอเราเดินไปเจอตลาด เราก็ควรจะเชื่อมโยงคำศัพท์กับสิ่งที่เราเห็น ว่านั่นคือ ตลาดนะ (บางคนถ้าไม่ยกตัวอย่างแล้วมานั่งท่องส่งๆ โดยไม่ได้เห็นภาพว่า ตลาด ตลาด ตลาด ตลาด ตลาด อันนี้อาจจะต้องท่องนานหน่อย แต่เวลาใช้เราก็จะดึงศัพท์มาใช้ได้ช้าอยู่ดี)
                ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้นด้วยภาษาอังกฤษ สมมติลูกกอล์ฟเจอคำว่า schedule เราจะเริ่มจากการดูหน้าที่ของคำหลักๆ แล้วเริ่มดูการอ่านออกเสียง เราจะไม่มานั่งมั่วๆ ว่า เช ด้วนหรือ สะ เก้ ด้วลแต่จะเปิด dictionary เพื่อหาคำอ่านที่ถูกต้อง พบว่า คำนี้อ่านได้หลากหลาย เช่น (skej-oo-uhl สะ เก้ จู เอิ่ล/skej-ool สะเก้ จู่ล (US) หรือ shej-ool เช้ จู่ล (UK) ซึ่งไม่ว่าจะอ่านแบบไหนก็จะเน้นเสียงพยางค์แรกจากนั้นก็ลงมือยกตัวอย่างให้ใกล้ตัวที่สุด เพราะคำๆ นี้ มักใช้เป็นคำนามที่แปลว่า ตารางเวลาหรือ กำหนดการยกตัวอย่างเช่น
I am not sure if I am free tomorrow. I will have to check my schedule first.
(ฉันไม่มั่นใจว่าฉันว่างพรุ่งนี้มั้ย ฉันจะต้องเช็กตารางงานก่อน)
                ภาษาเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกวัฒนธรรมและ lifestyle การดำเนินชีวิตของเจ้าของภาษาด้วยค่ะ จำไว้ว่าภาษาอังกฤษคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong leaning) ไม่ใช่แค่เฉพาะในตำราเท่านั้น เพราะต่อให้เรียนไวยากรณ์หรือท่องศัพท์แทบตาย แต่ถ้าไม่ได้ทำให้ภาษาอังกฤษ อินเข้ากับชีวิตของเราจริง ๆ ก็เท่ากับเรายังไม่สามารถเข้าใจมันอย่างถ่องแท้หรือนำไปใช้ได้ที่สำคัญ อย่ากลัวที่จะผิดค่ะ กระบวนการเรียนรู้ต้องอาศัยการลองผิดลองถูก (trial and error)
                วิธีการนิรนัย/อนุมาน(Deductive Method) และวิธีการอุปนัย/อุปมาน(Inductive Method) การอนุมาน และการอุปมาน เป็นการแสวงหาความรู้ความจริงโดยใช้เหตุผลในการลงข้อสรุป  พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว(2529 : 6) ได้สรุปให้เข้าใจง่ายๆไว้ว่า  การสรุปโดยใช้เหตุผล เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ได้มาซึ่งความรู้  ที่มาของความรู้ มาได้ 4 ทาง คือ 1.จากประสบการณ์  2.จากเหตุผล  3.จากผู้รู้ และ 4.จากการหยั่งรู้
                ยกตัวอย่าง
                                ดอกไม้สีขาวมีกลิ่นหอม       (ความรู้เดิม หรือประโยคอ้าง)
                                ดอกมะลิมีสีขาว                      (ความจริงย่อย)
                                ดอกมะลิมีกลิ่นหอม               (ข้อสรุป)
ดังนั้น ข้อสรุปแบบอนุมาน จะเป็นจริง ก็ต่อเมื่อความรู้เดิมหรือประโยคอ้างเป็นจริง  จึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงว่า ในการวิจัย หากเราอ้างทฤษฎี หลักการที่ไม่เป็นจริง จะทำให้การลงข้อสรุปในการวิจัยไม่เป็นจริง เพราะ การวิจัย คือการแสวงหาความรู้ความจริงที่เป็นระบบ ที่ให้ผลที่เชื่อถือได้
                การลงข้อสรุปจากหลักการหรือความจริง ที่นำมาเป็นประโยคอ้าง ต้องเป็นประโยคที่เป็นความจริง ไม่เช่นนั้นการลงข้อสรุปก็จะผิดพลาดไปด้วย  เช่น
ผู้หญิงทุกคนชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม             (ความรู้เดิม หรือประโยคอ้าง)
สร้อยระย้าเป็นผู้หญิง                                  (ความจริงย่อย)
สร้อยระย้าชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม                     (ข้อสรุป)
จะเห็นได้ว่าข้อสรุปนี้ไม่ถูกต้อง เพราะความรู้เดิมที่นำมาอ้าง ที่ว่าผู้หญิงทุกคนชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม ไม่เป็นความจริง ผู้หญิงไม่ได้ชอบซื้อสินค้าที่มีของแถมทุกคน
การสรุปแบบอุปมาน เป็นการสรุปจากความจริงย่อย เป็นประโยคอ้าง เพื่อลงข้อสรุปเป็นความจริงใหม่ ถ้าประโยคอ้างเป็นจริง ข้อสรุปนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นจริง
ยกตัวอย่าง
แม่ชอบชื้อสินค้าที่มีของแถม             (ความจริงย่อย ประโยคอ้าง)
พี่สาวชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม          (ความจริงย่อย ประโยคอ้าง)
เพื่อนผู้หญิงชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม  (ความจริงย่อย ประโยคอ้าง)
ป้าชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม                  (ความจริงย่อย ประโยคอ้าง)
ผู้หญิงชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม            (ข้อสรุป)

การลงข้อสรุปแบบอุปมานนี้จะเป็นจริง ก็ต่อเมื่อ ความจริงย่อยที่นำมาอ้างนั้นเป็นความจริง ถ้ามองเชื่อมโยงถึงการวิจัย การสรุปแบบอุปมาน น่าจะใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพค่อนข้างมาก ดังนั้น ในการเก็บข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ จะต้องใช้ความระมัดระวังให้ได้ข้อมูลจากพื้นที่การวิจัยที่แน่ใจว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริง มิฉะนั้นจะส่งผลต่อการสรุปผลการวิจัย  ถ้าข้อมูลที่ได้มามิใช่ข้อมูลจริงการสรุปผลก็จะผิดพลาดไปด้วย