การถ่ายทอดตัวอักษร (Transliteration)
การทับศัพท์
คือการดำเนินการแปลงข้อความจากระบบการเขียนหรือภาษาหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่งอย่างมีหลักการ
เพื่อให้สามารถเขียนคำในภาษาต่างประเทศด้วยภาษาและอักษรในภาษานั้น ๆ ได้สะดวก เช่น
การทับศัพท์ภาษาอังกฤษซึ่งเขียนด้วยอักษรโรมัน มาเป็นอักษรไทยเพื่อใช้ในภาษาไทย
หรือการทับศัพท์ภาษาไทย ไปเป็นอักษรโรมันเพื่อใช้ในภาษาอังกฤษ เป็นต้น
ส่วนมากใช้กับวิสามานยนาม อาทิ ชื่อบุคคล สถานที่
หรือชื่อเฉพาะที่ไม่สามารถแปลความหมายเป็นภาษาอื่นได้โดยสะดวก
ปกติแล้วการทับศัพท์คือการจับคู่จากระบบการเขียนหนึ่งไปยังอีกระบบหนึ่งแบบคำต่อคำ
หรือตามทฤษฎีคืออักษรต่ออักษร
การทับศัพท์ได้พยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์หนึ่งต่อหนึ่งทั่วถึงและทำให้เกิดความถูกต้องแม่นยำ
เพื่อให้ผู้อ่านที่ได้รับรู้สามารถสะกดคำต้นฉบับจากคำทับศัพท์ได้
และเพื่อที่จะบรรลุจุดประสงค์นี้
จึงมีการกำหนดหลักการทับศัพท์ที่ซับซ้อนในการจัดการกับตัวอักษรบางตัวในภาษาต้นฉบับที่ไม่สัมพันธ์กับอักษรในภาษาเป้าหมาย
ความหมายอย่างแคบของการทับศัพท์คือ การทับศัพท์แบบถอดอักษร (transliteration) ซึ่งเคร่งครัดในการคงตัวอักษรและเครื่องหมายวรรคตอนทุกอย่างเอาไว้
ทั้งนี้การถอดอักษรไม่สนใจความแตกต่างของเสียงในภาษา
ตัวอย่างหนึ่งของการถอดอักษรคือการใช้แป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษ
พิมพ์แทนภาษาอื่นที่ใช้ตัวอักษรต่างออกไปเช่นภาษารัสเซียเนื่องจากมีข้อจำกัดทางเทคนิค
หรือการถอดอักษรโบราณเพื่อให้ยังคงรักษารูปแบบการเขียนเดิมเอาไว้
เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาที่ไม่ได้ใช้อักษรโรมัน
จึงมีความจำเป็นที่จะศึกษาแนวทางการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน
เพื่อการสื่อสารกับชาวต่างชาติ
หรือการสื่อสารในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง
โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นชื่อเฉพาะ เช่น ชื่อบุคคล ชื่อสถานที่ ชื่อศิลปกรรม
ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อเทคโนโลยี เป็นต้น
นับว่าการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันมีความสำคัญต่อการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีของไทยแก่ต่างประเทศ การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันมี 2 วิธี คือ
การถอดอักษรตามวิธีเขียน (Transliteration) และการถอดอักษรตามวิธีอ่าน
หรือการถอดอักษรแบบถ่ายเสียง (Transcription)
การถอดอักษรตามวิธีเขียนเป็นการถอดตามตัวอักษรทุกตัวที่มีอยู่ในคำนั้น
มีข้อดีคือทราบที่มาของคำนั้น สามารถสะกดคำได้และสามารถถอดอักษรกลับไปยังคำเดิมได้
ข้อด้อยคืออ่านออกเสียงได้ยากและบางคำที่ถอดออกมามีมากเกินความจำเป็นในการออกเสียง
การถ่ายทอดตัวอักษรมีบทบาทในการแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งในกรณีต่อไปนี้
1. เมื่อในภาษาต้นฉบับมีคำที่ใช้แทนชื่อเฉพาะของสิ่งต่างๆ
เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่ ชื่อศิลปกรรม ชื่อผลิตภัณฑ์
ชื่อเทคโนโลยี เป็นต้น 2. เมื่อคำในภาษาต้นฉบับมีความหมายอ้างอิงถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมที่ไม่มีในสังคมของภาษาฉบับแปลจึงไม่มีคำเทียบเคียงให้
เช่น คำที่ใช้เรียกต้นไม้ สัตว์และกิจกรรมบางชนิด
ในการทับศัพท์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย
อักษรโรมันหลายตัวสามารถถอดด้วยอักษรไทยแบบหนึ่งต่อหนึ่ง เช่น d=ด, r=ร, l=ล, f=ฟ เป็นต้น
และสามารถแปลงกลับได้ตัวเดิม
แต่ก็มีอักษรโรมันบางตัวที่สามารถอ่านได้หลายเสียงในภาษาอังกฤษ
หรือไม่มีเสียงที่เหมือนกันในอักษรไทย ตัวอย่างเช่น tube ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันอ่านว่า /tub/ จึงทับศัพท์ว่า
ทูบ ส่วนภาษาอังกฤษแบบบริเตนอ่านว่า /tyub/ จึงทับศัพท์ว่า
ทิวบ์ ส่วนการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน
ถึงแม้อักษรไทยบางตัวจะสามารถแทนได้ด้วยอักษรโรมันแบบหนึ่งต่อหนึ่งได้เช่นกัน
แต่ก็มีอักษรไทยจำนวนมากที่กำหนดให้แทนด้วยอักษรตัวเดียวกัน
หรือต้องใช้อักษรโรมันมากกว่าหนึ่งตัวเข้ามาประกอบ เช่น ฐ-ฑ-ฒ-ถ-ท-ธ=th, ง = ng, สระเอือ = uea บางครั้งพยัญชนะต้นและพยัญชนะสะกดก็ใช้อักษรโรมันต่างกันด้วย
เช่น บ ถ้าเป็นพยัญชนะต้นใช้ b ถ้าเป็นพยัญชนะสะกดใช้
p เมื่อแปลงอักษรไปทั้งหมดแล้วทำให้ไม่สามารถถอดกลับมาเป็นอักษรไทยอย่างเดิมได้
และอาจทำให้คำอ่านเพี้ยนไปบ้าง ตัวอย่างเช่น บางกอก ทับศัพท์ได้เป็น Bangkok แต่ชาวต่างประเทศอาจจะอ่านว่า แบงค็อก
ซึ่งก็เป็นเพียงเสียงอ่านที่ใกล้เคียงเท่านั้น ไม่ใช่เสียงที่แท้จริง
นอกจากนี้
ไม่ควรสับสนระหว่างการทับศัพท์กับการแปล
ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนหรือเลือกคำในภาษาเพื่อสงวนความหมายดั้งเดิมเอาไว้
ในขณะที่การทับศัพท์เป็นการแปลงตัวอักษรเท่านั้น