วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ

ภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ
สิทธา พินิจภูวดล
                ภาษา  หมายถึง  เสียงที่เป็นคำพูดหรือถ้อยคำสำนวนที่ใช้พูดกัน  รวมทั้งกิริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้ถูกต้องตรงกัน  แบ่งออกเป็น  ๒  ประเภทคือ
         ๑.  ภาษาที่เป็นถ้อยคำ หรือ วัจนภาษา  หมายถึงภาษาที่ใช้เสียงพูด หรือตัวอักษรที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยตกลงกันให้ใช้เรียกแทนสิ่งของ ความคิด หรือมโนภาพของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มนุษย์รับรู้จากประสาทสัมผัส
๒.  ภาษาที่ไม่เป็นถ้อยคำ  หรือ อวัจนภาษา  หมายถึง ภาษาที่เกิดจากกิริยาอาการต่างๆ  ที่แสดงออกมาทางร่างกาย หรือสัญลักษณ์ที่มองเห็นแล้วผู้อื่นเกิดความเข้าใจความหมายได้โดยไม่ต้องอาศัยภาษาพูดหรือภาษาเขียนเป็นสื่อ
ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อความคิดระหว่างมนุษย์มาแต่โบราณ  ถ้าไม่มีภาษาสังคมมนุษย์ย่อมไม่สามารถพัฒนามาจนถึงปัจจุบันได้  ในโลกนี้มีภาษาอยู่ประมาณ ๔,๐๐๐  ภาษา  ลักษณะที่ถือว่าเป็นธรรมชาติของภาษามีดังนี้
๑.      ภาษาใช้เสียงสื่อความหมาย
มนุษย์แต่ละชาติมีการกำหนดเสียงที่ใช้สื่อสารกันเพื่อสื่อความหมาย  ภาษาจึงเป็นสิ่งที่สังคมร่วมกันกำหนดขึ้นที่จะให้เสียงใดมีความหมายอย่างใด เสียงในภาษาแต่ละภาษาจึงต่างกัน  เช่น  เสียงในภาษาไทยประกอบด้วย เสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์  ในขณะที่เสียงในภาษาอังกฤษจะไม่มีเสียงวรรณยุกต์  เป็นต้น
๒.    หน่วยในภาษาประกอบกันเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้นได้
ภาษาประกอบด้วยหน่วยต่างๆ เรียงจากหน่วยที่เล็กไปเป็นหน่วยที่ใหญ่ได้ดังนี้
๒.๑  เสียง เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในภาษา  แบ่งเป็น เสียงพยัญชนะ เสียงสระ เสียง  วรรณยุกต์
๒.๒  พยางค์  เกิดจากการนำหน่วยเสียงในภาษามาประกอบกัน อาจมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้
๒.๓  คำ  เกิดจากพยางค์ที่ได้กำหนดความหมาย เมื่อกำหนดความหมายให้พยางค์นั้นก็จะกลายเป็นคำใช้สื่อสารได้

                   ๒.๔  กลุ่มคำหรือวลี  เกิดจากการนำคำมาประกอบกันตามหลักการใช้ถ้อยคำของแต่ละภาษา เช่น  เสื้อยืดสีดำ   เป็นกลุ่มคำ ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ เสื้อยืดและสีดำ
                  ๒.๕  ประโยค  เกิดจากการนำคำมาเรียงลำดับกันตามระบบทางภาษาแต่ละภาษาแล้วได้ใจความสมบูรณ์ ประโยคสามารถขยายให้ใหญ่ขึ้นได้โดยการเติมคำขยาย
การเขียนบทแปลที่ดีต้องเขียนด้วย “ภาษาที่เป็นธรรมชาติ” ซึ่งหมายถึงภาษาเขียนของภาษาพูดที่คนไทยทั่วไปใช้กันจริงในสังคมไทยปัจจุบัน โดยเพื่อให้คนไทย หรือผู้อ่านสามารถเข้าใจความหมายได้ทันที และไม่มีอุปสรรคในการรับสารที่สื่อจากบทแปล ซึ่งองค์ประกอบที่นักแปลต้องพิจารณาในการเขียนบทแปลด้วยภาษาไทยที่เป็นธรรมชาตินั้น ได้แก่ องค์ประกอบย่อยของการแปล นั่นคือ คำ ความหมาย การสร้างคำ และสำนวนโวหาร
                คำบางคำนั้นมีความหมายที่แตกกต่างกันหลายอย่างทั้งที่มีความหมายโดยตรงและความหมายโดยแฝง หรือความหมาเชิงเปรียบเทียบนั่นเอง เช่น “เบี้ยว” ความหมายโดยตรงก็คือ ลักษณะของสิ่งของที่มีทรงกลมแต่ไม่กลมไปทั้งหมด อาจมีบิดหรือไม่ตรง และความหมายโดยแฝงคือ ไม่ซื่อสัตย์ ทรยศ หักหลังหรือเชื่อถือไม่ได้ ซึ่งคำบางคำนั้นต่างมีความหมายแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น “กู” เดิมแล้วเมื่อก่อนเป็นำสามัญที่ใช้พูดจากันโดยทั่วไป แต่สำหรับยุคปัจจุบันนั้น ถือเป็นคำที่หยาบ และมีความหมายที่เลวลง จำกัดในวงแคบหรือใช้ในกลุ่มเพื่อนที่สนิท นอกจากนี้แล้วในการพูดหรือการเขียนที่ต้องการแสดงอารมณ์ อาจจะนำคำที่มีความหมายไม่ดีมาใช้ให้เกิดความหมายที่ดีขึ้นได้ เช่น ใจดีเป็นบ้า เป็นต้น
                การสร้างคำกริยา ในที่นี้จะขอกล่าวถึง การเสริมท้ายคำกริยาด้วยคำกริยา ซึ่งคำกริยาที่นำมาเสริมนั้น ได้แก่ ขึ้น ลง ไป มา โดยไม่มีความหมายเดิมหลงเหลืออยู่เลย แต่จะกลายเป็นคำบอกปริมาณ และทิศทาง เช่น ทำขึ้น บอกปริมาณว่ามาก, ชัดเจน เช่นเดียวกับ หัวราะขึ้น หรือเกิดขึ้น ช้าลง บอกปริมาณว่ามีเพียงเล็กน้อย มีความหมายเช่นเดียวกับ แก่ลง เสื่อมลง จากไป บอกทิศทางว่าห่างไกลออกไป เช่นเดียวกับ พูดไป คิดไป กลับมา บอกทิศทางว่า ใกล้ เช่นเดียวกับ บอกมา เขียนมา แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้ ไป-มา ขึ้น-ลง คู่กัน จะมีความหมายถึงการทำซ้ำ ๆ เช่น เดินไปเดินมา นั่นคือ การเดินซ้ำหลายหน
                การเข้าคู่คำ คือ การนำคำหลายคำมาเข้าคู่กันเพื่อให้ได้คำใหม่ที่มีความหมายใหม่ต่างไปจากเดิมหรือคงความหมายเดิม โดยคู่คำที่พ้องความหมายจะเป็นคำที่อยู่ในภาษาเดียวกัน หรือคำต่างประเทศหรือคำภาษาถิ่นก็ได้ ซึ่งความหมายโดยส่วนใหญ่ที่ได้จะคงเดิม เช่น ทรัพย์สิน เสื่อสาด เป็นต้น คู่คำที่มีความหมายตรงข้าม ส่วนมากแล้วจะได้ความหมายใหม่ เช่น ผู้ใหญ่ผู้น้อย คนมีคนจน เป็นต้น คำที่มีความหมายต่างกัน มักจะได้คำใหม่ที่มีเค้าความหมายเดิมเหลืออยู่ เช่น ลูกเมีย พี่ป้าน้าอา เป็นต้น
               
สำนวนโวหาร คือ คำกล่าวหรือถ้อยคำคมคายสั้นๆ ที่ผูกเข้าเป็นประโยค และมีความหมายไม่ตรงตามตัว ลักษณะของสำนวนโวหารหรือสำนวนไทยนั้นประกอบด้วย
1.สำนวนที่ประกอบด้วยคำว่า “ให้” ให้ ในสำนวนเช่นนี้ไม่มีความหมายเหมือนเมื่อเป็นกริยาสำคัญ แต่จะมีความหมายอย่างอื่น เช่น จนกระทั่ง เช่นในสำนวน รับประทานให้หมด กับ, แก่ คำที่ตามหลัง “ให้” ทำหน้าที่เป็นกรรมรอง เช่น พ่อค้าขายของให้ลูกค้า เพื่อที่จะ คือบอกจุดมุ่งหมายและผลของการกระทำ ในกรณีเช่นนี้ “ให้” จะวางไว้หน้ากริยาที่วลีที่เป็นกริยาหรือหลังประโยคก็ได้ เช่น ฉันเอาผ้าไปให้เขาตัดเสื้อ เป็นต้น เพื่อที่จะ ให้เป็นส่วนหนึ่งของวลีที่ทำหน้าที่ขยายกริยา ในกรณีเช่นนี้ “ให้” จะวางอยู่ข้างหน้าคำคุณศัพท์ เช่น แต่งตัวให้สบาย เรียนให้เก่ง เป็นต้น
2.สำนวนที่มีคำซ้ำ ในที่นี้หมายถึงคำเดียวกันซ้ำกัน (ซ้ำรูป) และคำที่มีความหมายเหมือนกัน (ซ้ำความหมาย) ซึ่งการให้คำซ้ำนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนกันไป ถ้าผู้เขียนไม่ระมัดระวังจริง ๆ ถึงแม้ว่าจะตั้งใจจะให้ดีก็อาจกลายเป็นเสียไปได้ ในส่วนของข้อดีของการใช้คำซ้ำคือ
2.1 เพื่อความไพเราะ ซึ่งคำสั้น ๆ และห้วนนั้น ถ้ามีการซ้ำรูปจะทำให้เสียงทอดยาว อ่อนสลวย ฟังดูไม่ห้วน เช่น เดือดปุด ๆ นอกจากนี้แล้วยังมีคำที่ซ้ำความหมายอีกด้วย เช่น อยู่โดดเดี่ยว เป็นต้น
2.2 เพื่อให้มีความหมายอ่อนลง มักจะใช้กับประโยคคำสั่งเพื่อคลายความบังคับลงให้กลายเป็นขอร้อง แต่บางครั้งคำเหล่านี้ก็แสดงถึงความไม่หนักแน่น ไม่แน่ใจ เช่น พูดดี ๆ นั่งเฉย ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างคำที่ซ้ำความหมายอีกด้วย เช่น แก้วเจียรไนใบนี้บางเบาดี  
2.3 เพื่อให้ได้คำใหม่ ๆ ใช้ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง ไม่ลอกเลียนแบบใคร คิดขึ้นได้เอง
2.4 เพื่อแสดงว่ามีจำนวนมาก ปริมาณมาก หรือเป็นพหูพจน์ เช่น เด็ก ๆ มากินขนม, มีคนเยอะ ๆ เช่นนี้ อากาศไม่ดีเลย เป็นต้น
โวหารภาพพจน์ คือ โวหารภาพพจน์ คือ กลวิธีการนำเสนอสารโดยการพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูด หรือเขียนให้แปลกออกไปจากภาษาตามตัวอักษรทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในใจ เกิดความประทับใจ เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ลักษณะของโวหารภาพพจน์ ได้แก่
1.โวหารอุปมา (Simele) คือ การสร้างภาพพจน์ด้วยการเปรียบเทียบโดยมีจุดมุ่งหมายจะชี้แจงอธิบาย หรือพูดพาดพิงถึง หรือเสริมให้งดงามขึ้น ส่วนใหญ่มักจะใช้คำเชื่อม คือ เหมือนราวกับ ดุจ ประดุจ ประหนึ่ง และอื่น ๆ ที่มีความหมายอย่างเดียวกัน โวหารแบบนี้จะเป็นวลีสั้น ๆ หรือเป็นทั้งประโยค หรือเป็นโคลงกลอนทั้งบทก็ได้ เช่น หน้าแจ่มดังดวงจันทร์วันเพ็ญ เป็นต้น
2.โวหารอุปลักษณ์ (Metaphor) คือ การเปรียบเทียบความหมายโดยนำความเหมือนและไม่เหมือนของสิ่งของที่จะเปรียบเทียบมากล่าว เพื่อแสดงถึงความเก่งของกวีเพราะกวีนั้นจะเลี่ยงการใช้คำพื้น ๆ ไปสู่คำใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังคงมีรอยเดิมอยู่ในคำนั้น เช่น วัยไฟ เป็นต้น
3.โวหารเย้ยหยัน (Irony) คือ การใช้ถ้อยคำอารมณ์ขันเพื่อยั่วล้อ เย้ยหยัน เหน็บแนมหรือชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่อง และความไม่ฉลาดของสิ่งที่จะกล่าวถึง
4.โวหารขัดแย้ง (Contrast หรือ Antitheses) เป็นการกล่าวโดยขัดแย้งกับความจริงหรือความเชื่อและความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป ซึ่งจะเป็นคำกล่าวที่ดูเหมือนว่าจะขัดกันเอง แต่ถ้าหากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่าเป็นความจริง เช่น เชคสเปียร์กล่าวว่า “คนขลาดตายไปแล้วหลายครั้งก่อนตาย” หรือ คำกล่าวของคนไทยที่ว่า “คนดีตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้” เป็นต้น
5.โวหารที่ใช้ส่วนหนึ่งแทนทั้งหมด (Metonnymy) คือการนำลักษณะหรือคุณสมบัติเด่น ๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาใช้แทนที่จะเอ่ยนามสิ่งนั้นออกมาตรง ๆ รวมทั้งส่วนประกอบของสิ่งของและของใช้ประจำของบุคคล เช่น ปากกาคมกว่าดาบ เป็นต้น
6.โวหารบุคคลาธิษฐาน (Personification) คือการนำสิ่งที่ไม่มีชีวิต รวมถึงความคิด การกระทำ และนามธรรมอื่น ๆ มากล่าวเหมือนเป็นบุคคล เช่น วานเมฆว่ายฟ้าไปเฝ้าน้อง
7.โวหารที่กล่าวเกินจริง (Hyperbole) จะเน้นให้ความสำคัญและชี้ชัดเพื่อแสดงอารมณ์ที่รุนแรง โดยไม่ได้ต้องการอธิบายข้อเท็จจริงใด ๆ เช่น คิดถึงใจจะขาด
ลักษณะที่ดีของสำนวนโวหาร ได้แก่ ถูกหลักภาษา โดยไม่ขัดกับหลักไวยากรณ์ ถึงแม้ว่าจะพลิกแพลงไม่ตรงตามกฎเกณฑ์บ้าง ไม่กำกวม ต้องมีความชัดเจน แม่นตรง ไม่ชวนให้ไขว้เขว สงสัยหรือไม่ชัดแจ้ง มีชีวิตชีวา ไม่เนิบนาบ เฉื่อยชา ยืดยาด โดยต้องมีความเร้าใจ มีชีวิตชีวา ผู้อ่านอ่านแล้วรู้สึกกระตือรือร้น สมเหตุสมผล มีความน่าเชื่อถือ มีเหตุผลรอบคอบ ไม่อคติ หรือไม่สร้างความหลงผิดให้กับผู้อ่าน คมคายเฉียบแหลม โดยการใช้คำพูดที่เข้มข้น หนักแน่น แฝงข้อคิดที่ฉลาด
ดังจะเห็นได้ว่า หากผู้แปลมีความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องของคำหรือธรรมชาติของภาษาแล้ว เมื่อทำการแปลบทแปลหรืองานแปลอื่น ๆ แล้ว ก็จะสามารถแปลงานนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และคงความหมายเดิมของต้นฉบับได้อย่างครบถ้วน โดยไม่ขาดหรือตกหล่น สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสามารถและพัฒนาการด้านการแปลของผู้แปลที่ดี