วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล



ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล
                โครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ภาษาหรือการใช้ภาษา  โครงสร้างเป็นสิ่งที่บอกเราว่า เราจะนำคำศัพท์ที่เรารู้มาประกอบกันหรือเรียงกันอย่างไรจึงจะเป็นภาษาที่เข้าใจ ผู้ฟังก็ต้องเข้าใจโครงสร้างของภาษานั้นจึงจะฟังอย่างเข้าใจ
                ชนิดของคำ (parts of speech) เมื่อเราสร้างประโยคเราต้องนำคำมาเรียงกันให้เกิดความหมาย ประโยคจะถูกไวยากรณ์เมื่อเราใช้ชนิดของคำตรงกับหน้าที่ทางไวยากรณ์ ถึงอย่างไรก็ตาม การสร้างประโยคคำนึงถึงชนิดของคำยังไม่พอ ต้องคำนึงถึงประเภททางไวยากรณ์ด้วย
                ประเภททางไวยากรณ์ (Grammatical category) หมายถึง ลักษณะสำคัญในไวยากรณ์ของภาษาใดภาษาหนึ่ง จะสัมพันธ์กับชนิดของคำ ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญ โดยจะเรียงลำดับตามชนิดของคำที่เกี่ยวข้อง
คำนาม : พบว่าประเภททางไวยากรณ์เป็นลักษณะสำคัญหรือลักษณะที่มีตัวบ่งชี้ในภาษาอังกฤษ แต่จะไม่สำคัญในภาษาไทย ได้แก่ บุรุษ บอกว่าเป็นคำนามหรือสรรพนาม พจน์ บอกจำนวนเพียงหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่ง  การก บอกว่าคำนามนั้นเล่นบทบาทอะไรคือสัมพันธ์กับคำอื่นในประโยคอย่างไร  ความชี้เฉพาะบอกความแตกต่างระหว่างนามชี้เฉพาะกับนามไม่ชี้เฉพาะการแยกความแตกต่างนี้ไม่มีในภาษาไทย จึงอาจเป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้าใจสำหรับคนไทย และการนับได้ แบ่งเป็น นามนับได้กับนามนับไม่ได้ ในภาษาอังกฤษใช้ตัวกำหนด a/an กับนามนับได้ที่เป็นเอกพจน์ และเติม –s ที่นามนับได้ที่เป็นพหูพจน์ ส่วนนามนับไม่ได้ไม่ต้องใช้ a/an และต้องไม่เติม –s ในภาษาไทยคำนามทุกคำนับได้ เพราะเรามีลักษณะนามบอกจำนวนของทุกสิ่งได้  ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะเหล่านี้จะช่วยในการแปลเป็นอย่างมาก

คำกริยา : เป็นส่วนที่สำคัญของประโยค เพราะมีไวยากรณ์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กาล การณ์ลักษณะ มาลา วาจก และการแยกกริยาแท้กับไม่แท้
กาล แสดงความเป็นอดีตหรือไม่ใช่อดีต ผู้พูดภาษาอังกฤษต้องใช้คำกริยาที่มีกาลมาร่วมด้วย เช่น I likes cat. กับ I liked cat. ประโยคทั้งสองต่างกันที่ likes แสดงปัจจุบันกาล กับ liked แสดงอดีตกาล สำหรับคำแปลไทยทั้งสองประโยคไม่ต่างกัน
การณ์ลักษณะ คือ ลักษณะของการกระทำ หรือเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ดำเนินอยู่ เหตุการณ์ที่เสร็จสิ้น การเกิดซ้ำของเหตุการณ์ เป็นต้น การณ์ลักษณะสำคัญที่สำคัญในภาษาอังกฤษ ได้แก่ การณ์ลักษณะต่อเนื่อง หรือ การณ์ลักษณะดำเนินอยู่  คนไทยจะเข้าใจการณ์ลักษณะเหล่านี้ได้ง่ายเพราะภาษาไทยมีการณ์ลักษณะทำนองนี้เหมือนกัน
มาลา เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่ใช้กับกริยา มีหน้าที่แสดงว่าผู้พูดมีทัศนะคติต่อเหตุการณ์หรือเรื่องที่พูดอย่างไร ในภาษาไทยคำกริยาไม่มีการแสดงมาลา มาลาในภาษาอังกฤษแสดงโดยการเปลี่ยนรูปคำกริยา หรืออาจช่วยกริยาที่เรียกว่า Modal auxiliaries เช่น may might can could เป็นต้น
วาจก เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างประธานกับการกระทำที่แสดงโดยคำกริยา ว่าประธานเป็นผู้กระทำหรือประธานเป็นผู้ถูกกระทำ
กริยาแท้กับกริยาไม่แท้ ภาษาอังกฤษในหนึ่งประโยคเดียวจะมีกริยาแท้ได้เพียงตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งมีรูปแบบที่เห็นได้ชัดจากาการที่ต้องลงเครื่องหมายเพื่อบ่งชี้ประเภททางไวยากรณ์ต่างๆ เช่น กาล มาลา วาจก ส่วนกริยาอื่นๆในประโยคต้องแสดงรูปให้ชัดว่าไม่ใช่กริยาแท้ ในภาษาไทยไม่มีความแตกต่างระหว่างกริยาแท้กับกริยาไม่แท้ เช่น ตำรวจจับผู้ร้ายปล้นร้านทองได้แล้ว คำว่า จับและ ปล้นเป็นกริยาที่ไม่มีความแตกต่างกันทางสภาพเลย ในการแปลจากอังกฤษเป็นไทย ผู้แปลอาจจำเป็นต้องขึ้นต้นประโยคใหม่ นั่นหมายความว่า ทำกริยาไม่แท้ให้เป็นกริยาแท้ของประโยคใหม่
ชนิดของคำประเภทอื่น : คำบุพบทในภาษาอังกฤษสามารถห้อยท้ายวลีหรือประโยคได้ แต่ไม่มีในภาษาไทยเช่น I don’t have a chair to sit on. (ฉันไม่มีเก้าอี้จะนั่ง) เป็นต้น คำ adjective ในภาษาอังกฤษก็อาจเป็นปัญหาสำหรับคนไทย เพราะต้องใช้กับ verb to be เมื่อทำหน้าที่เป็นภาคแสดงของประโยค เช่น He is clever.(เขาเป็นคนฉลาด)  ในภาษาไทยไม่มีโครงสร้างแบบนี้เพราะใช้กริยาทั้งหมด นอกจากนั้น adjective ที่เรียงกันหลายคำเพื่อขยายคำนามหลัก เมื่อแปลเป็นไทยจะมีปัญหา เราไม่สามารถแปลตรงๆได้ คำอีกประเภทที่ไม่มีในภาษาอังกฤษ คือ ครับ นะ คะ เป็นต้น
สรุปได้ว่า ความแตกต่างระหว่างภาษาอังกฤษและภาษาไทย คือ ชนิดของคำและประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญหลายประการ ซึ่งถ้าผู้แปลมีความเข้าใจก็จะทำให้การแปลง่ายยิ่งขึ้น
                หน่วยสร้างที่ต่างกันในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
หน่วยสร้าง คือ หน่วยทางภาษาที่มีโครงสร้าง เช่น หน่วยสร้างนามวลี (noun phrase construction) หน่วยสร้างกรรมวาจก (passive construction) เป็นต้น
                หน่วยสร้างนามวลี : ตัวกำหนด (Determiner) + นาม (อังกฤษ กับ ไทย) กล่าวคือ นามวลีในภาษาอังกฤษต้องมีตัวกำหนด (Determiner) อยู่หน้านามเสมอถ้าคำนามนั้นเป็นนามนับได้และเป็นเอกพจน์ (ยกเว้น นามที่เป็นชื่อเฉพาะและสรรพนาม) เช่น a cat, an apple, the man เป็นต้น
                หน่วยสร้างนามวลี : ส่วนขยาย + ส่วนหลัก (อังกฤษ) กับ ส่วนหลัก+ส่วนขยาย(ไทย) กล่าวคือ ในภาษาอังกฤษวางส่วนขยายไว้หน้าส่วนหลัก ส่วนภาษาไทยตรงกันข้าม แปลจากอังกฤษเป็นไทยถ้าส่วนขยายไม่ยาวเราเพียงแต่ย้ายที่ส่วนขยายจากหน้าไปหลังก็ได้ หากส่วนขยายยาวผู้แปลอาจจะขึ้นประโยใหม่โดยรักษาความหมายเหมือนเดิม เช่น He found himself on the green knoll.เขาพบว่าตนเองกำลังนอนอยู่ตรงชะง่อนผาเขียวชอุ่ม The book was not original, but it was timely. หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เล่มแรกที่ศึกษาเรื่องนี้แต่เป็นหนังสือที่ออกในเวลาเหมาะ
                หน่วยการสร้างกรรมวาจก (passive constructions) : ในภาษาอังกฤษหน่วยสร้างกรรมวาจกมีรูปแบบเด่นชัด และมีแบบเดียว คือ ประธาน/ผู้รับ การกระทำ+กริยา—verb to be +past participle+(by+นามวลี/ผู้กระทำ) การกล่าวเกี่ยวกับอารมณ์จะมีรูปตรงกันข้ามในภาษาไทยและอังกฤษ ในภาษาไทยมักเป็นกรรตุวาจก เช่น สนใจ พอใจ ท้อใจ เป็นต้น ส่วนในภาษาอังกฤษกรรมวาจก เช่น น้องกลัวแมงมุม (กรรตุวาจก) My sister is scared of spiders. (กรรมวาจก)
                หน่วยสร้างประโยคเน้น subject กับประโยคเน้น topic กล่าวคือ ภาษาไทยได้ชื่อว่าเป็นภาษาเน้น topic และในภาษาอังกฤษเน้น subject ดังนั้นเราจึงพบประโยคเทียบเท่า เช่น The research result (subject) showed that the majority of users had never joined in the library activities. ผลการวิจัย (topic) ปรากฏว่าผู้ใช้หอสมุดแห่งชาติส่วนใหญ่ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมกิจกรรมห้องสมุด
                หน่วยสร้างกริยาเรียงในภาษาไทย (serial verb construction) กล่าวคือ โครงสร้างที่ประกอบด้วยกริยาตั้งแต่สองคำขึ้นไปเรียงต่อกันโดยไม่มีอะไรคั่นกลางยกเว้นกรรมของกริยาที่มาข้างหน้า เช่น เดิน-ไป-ดูหนัง เป็นต้น เมื่อแปลประโยคเช่นนี้เป็นภาษาอังกฤษจะสังเกตได้ว่าโครงสร้างจะเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่กริยาเรียง ตัวอย่างเช่น โดยการป้องกันบำบัดและระงับโรคต่างๆ – by managing to prevent, cure, and stop diseases.


สรุป
                เรื่องชนิดของคำ : ปัญหาเกิดจากการที่ภาษาหนึ่งมีชนิดของคำบางประเภทแต่อีกภาษาไม่มี โดยที่ภาษาอังกฤษมี ตัวกำหนด (determiner) นาม,กริยา,คุณศัพท์,วิเศษณ์,บุพบท,และสันธาน ไม่มีลักษณะนามและคำลงท้าย ภาษาไทยมีทุกชนิดคำยกเว้นคำคุณศัพท์ และชนิดคำที่ไม่มีในภาษาอังกฤษ คือ ลักษณะนามและคำลงท้าย
                เรื่องประเภททางไวยากรณ์ : คำนาม ในภาษาไทยไม่มีการบ่งชี้ บุรุษพจน์ การก นามนับได้-นามนับไม่ได้ ชี้เฉพาะ แต่ในภาษาอังกฤษมีการบ่งที่ชัดเจน ส่วนคำกริยา ภาษาไทยไม่มีการบ่งชี้ กาล มาลา วาจก กริยาแท้-ไม่แท้ แต่ภาษาอังกฤษมีการบ่งที่ชัดเจน
                เรื่องหน่วยสร้างหรือรูปประโยค : นามวลีในภาษาอังกฤษมีตัวกำหนดแบบบังคับ แต่ในภาษาไทยจะมีหรือไม่มีก็ได้ การวางส่วนขยายในนามวลีในภาษาอังกฤษมีความตรงกันข้ามระหว่างไทยกับอังกฤษ หน่วยสร้างกรรมวาจกในภาษาอังกฤษมีรูปแบบที่ชัดเจน แต่ในภาษาไทยมีหลายรูปแบบ ประโยคที่เน้นประธานกับประโยคเน้นเรื่องในภาษาอังกฤษต้องมีประธานเสมอ ในภาษาไทยประโยคส่วนมากมักขึ้นต้นด้วยเรื่อง หน่วยสร้างกริยาเรียง มีแต่ในภาษาไทย ไม่มีในภาษาอังกฤษ